พิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับส่งนักเรียน”

กรมการขนส่งทางบก ร่วม 4 หน่วยงาน กระทรวงศึกษาธิการ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และบริษัท แท็กซี่-บีม จำกัด ลงนาม MOU ความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับ-ส่งนักเรียน  สร้างระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ดูแลนักเรียนร่วมกันภายใต้โครงการรถรับ-ส่งนักเรียนทั่วไทย ปลอดภัยทุกพื้นที่ “SCHOOL BUS BE SAFE BE CARE”  พัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ รถรับ-ส่งนักเรียนด้วยการต่อยอดเทคโนโลยี GPS ของกรมการขนส่งทางบก

วันนี้ (13  กันยายน  2561) เวลา 09.30 น. ณ ห้องโถงอาคาร 1 กรมการขนส่งทางบก จตุจักร นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก, นายธีร์  ภวังคนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนวปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ, นายกนกเวทย์  ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และนายวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทแท็กซี่-บีม จำกัด ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับส่งนักเรียน” เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในรถรับส่งนักเรียน การควบคุม กำกับ ดูแลตัวรถให้มีความปลอดภัย ผู้ขับรถมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ขับรถและให้การดูแลนักเรียน พร้อมนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจสอบ ติดตามตำแหน่งและสถานะของรถและเด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกตระหนักถึงความสำคัญในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถและพนักงานขับรถซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการสร้างรูปแบบการให้บริการของรถรับ-ส่งที่เป็นมาตรฐาน มีความปลอดภัย เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครอง ตัวนักเรียน และชมรม สมาคมผู้ประกอบอาชีพรถรับ-ส่งนักเรียน และยังสอดคล้องกับสภาพสังคมที่แตกต่างกันไป  ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมการขนส่งทางบก, กระทรวงศึกษาธิการ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และ บริษัท แท็กซี่-บีม จำกัด  เป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน  การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ขับรถรับ-ส่งนักเรียนและผู้ให้การดูแลนักเรียนเพื่อให้มีความพร้อมในด้านความรู้และทักษะ สำหรับการทำหน้าที่ขับรถและให้การดูแลนักเรียน  การตรวจสอบรถรับ-ส่งนักเรียน ผู้ขับรถ และเด็กนักเรียนที่ใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียน โดยใช้แอพพลิเคชันและระบบติดตามที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบตำแหน่งและสถานะของรถรับ-ส่งนักเรียน รวมทั้งตรวจสอบการขึ้น-ลงรถของเด็กนักเรียนที่โดยสารไปกับรถรับ-ส่งนักเรียน เพื่อป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้บนรถ  พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกและศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  กล่าวต่อไปว่า  กรมการขนส่งทางบกยังได้ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน ด้วยรูปแบบเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนโดยมีโรงเรียนเป็นจุดจัดการ  โดยใช้พื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบ ภายใต้โครงการ “จันทบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยใช้รูปแบบเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียน ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักที่หนึ่ง – โรงเรียนซึ่งเป็นจุดจัดการหลักโดยผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ดูแลรถรับส่งนักเรียน  เสาหลักที่สอง – กลุ่มคนขับรถรับส่งนักเรียนโดยชมรมรถรับส่งนักเรียนในเขตพื้นที่  เสาหลักที่สาม – นักเรียนและผู้ปกครองที่ใช้รถรับส่งนักเรียน และเสาหลักที่สี่ – สำนักงานขนส่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน ทั้งด้านตัวรถทุกประเภทที่นำมาใช้รับส่งนักเรียนต้องมีความปลอดภัยและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม  คนขับรถต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในด้านของความรู้และทักษะและผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติจากเครือข่ายรถรับส่งนักเรียน  รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการติดตามตัวนักเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น  นอกจากนี้ รถรับส่งนักเรียนทุกคันต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนประจำรถตลอดเวลาที่รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัย ห้ามนักเรียนยืน กำชับการคาดเข็มขัดนิรภัย และสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุเพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก  กล่าวเพิ่มเติมว่า  กรมการขนส่งทางบกห่วงใยในสวัสดิภาพการเดินทางของนักเรียน เนื่องจากอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยของพนักงานขับรถและผู้ควบคุมดูแลประจำรถ ประกอบกับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยทั้งในด้านผู้ขับรถ สภาพรถ และลักษณะรถ ตลอดจนพฤติกรรมการให้บริการซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันสร้างความตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ การให้บริการที่ดี และคอยดูแลความปลอดภัยของนักเรียน  ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถรับ-ส่งนักเรียน

กรมการขนส่งทางบก MOU 4 หน่วยงาน.docx [2 MB]